คติธรรมในพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก

                                                                                          พรรณษา  พลอยงาม1

บทนำ

พระมหาชนกเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่คนไทยรู้จักอย่างแพร่หลาย โดยพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก มีต้นเรื่องมาจากอรรถกถามหาชนกชาดกในพระสุตตันตปิฎกขุททกนิกาย  ทรงดัดแปลงเนื้อหาบางส่วนแตกต่างออกไปเพื่อให้อ่านง่ายและสื่อถึงพระราชดำริที่ต้องการแฝงคติธรรมในการปลูกฝังศีลธรรมให้พสกนิกรของพระองค์ อีกทั้งการสร้างขวัญและให้กำลังใจปวงชนชาวไทย โดยได้ทรงพระราชทานพรดังที่ปรากฏในหนังสือพระมหาชนก ดังคำกล่าวที่ว่า “ขอจงมีความเพียรที่บริสุทธิ์ ปัญญาที่เฉียบแหลม และกำลังกายที่สมบูรณ์” จากพระราชปรารภที่กล่าวข้างต้น หมายถึง ขอเพียงคนเราอย่าทิ้งความเพียร ใช้ปัญญา และทุ่มเทแรงกายแรงใจด้วยความบริสุทธิ์ หากเราปฏิบัติได้เช่นนี้ จะทำให้สามารถก้าวผ่านวิกฤตต่าง ๆ ไปได้

1.ความเป็นมาพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก

             เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสดับพระธรรมเทศนาของสมเด็จ พระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร) วัดราชผาติการาม ในปี พ.ศ. 2520 เป็นตอนที่ว่าด้วยพระมหาชนกกษัตริย์แห่งมิถิลานครเสด็จประพาสพระราชอุทยานในกรุงมิถิลา เรื่องมีใจความว่า ที่ทางเข้าสวนหลวงมีต้นมะม่วงสองต้น ต้นหนึ่งมีผล อีกต้นหนึ่งไม่มีผล ทรงลิ้มรสมะม่วงอันโอชา แล้วเสด็จเยี่ยมอุทยาน เมื่อเสด็จกลับออกจากสวนหลวง ทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงที่มีผลรสดี  ถูกข้าราชบริพารแย่งชิงดึงทึ้งจนโค่นลง ส่วนต้นที่ไม่มีลูกก็ยังคงอยู่ตามปกติ แสดงให้เห็นว่า “ สิ่งใดดี มีคุณภาพ ก็มักเป็นเป้าหมายให้เกิดการยื้อแย่ง และเป็นอันตรายหากอยู่ท่ามกลางผู้ที่ขาดปัญญา” เมื่อทรงสดับแล้วสนพระราชหฤทัย จึงทรงค้นเรื่องพระมหาชนกในพระไตรปิฎก (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกายชาดก เล่มที่ 4 ภาคที่ 2) และทรงดัดแปลงพระราชนิพนธ์ทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อให้บุคคลทั่วไปทั้งไทยและสากลได้อ่านและเรียนรู้จากมหาชนกนี้ (สมบัติ กุสุมาวลี, 2553 : 108) นอกจากนี้ทรงปรับสำนวนภาษาให้อ่านเข้าใจง่าย อีกทั้งทรงเปลี่ยนตอนจบพระมหาชนกใหม่ให้เหมาะแก่สังคมปัจจุบัน โดยทรงแปลเสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. 2531 แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ในโอกาสเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษกแห่งรัชกาลในปี พ.ศ. 2539 เพื่อเตือนคนไทยให้เลิกลุ่มหลงในอวิชชาที่มุ่งทำลายมากกว่าความสร้างสรรค์ด้วยความเพียรพยายาม และเลิกมัวเมาในการตักตวงแสวงหาเพื่อประโยชน์สุขของตน โดยปราศจากการพินิจพิเคราะห์ด้วยสติปัญญา

          2. เนื้อหาในวรรณกรรมเรื่องพระมหาชนกฉบับพระราชนิพนธ์

         พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกแสดงเรื่องราวของพระมหาชนกผู้เป็นแบบอย่างของการมีความเพียรเป็นที่ตั้ง คือ การไม่ละความพยายาม แม้ยังมองไม่เห็นฝั่ง อันเป็นความเพียรแท้ คือ เมื่อพระมหาชนกเจริญพระชนม์อยู่ที่นครจัมปากะ ทรงมีพระราชสงค์ทวงคืนพระราชสมบัติของพระราชบิดา ณ เมืองมิถิลา จึงเดินทางมาค้าขายยังสุวรรณภูมิเพื่อแสวงหาทรัพย์ ระหว่างทางเกิดพายุหนัก ผู้คนที่โดยสารเรือด้วยกันมาต่างต้องสิ้นชีวิตเพราะมีความประมาท ขาดการตระเตรียมตนเองรับมือกับพายุ พระมหาชนกเป็นผู้เดียวที่รอดชีวิต พระองค์ว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทรเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน จนนางมณีเมขลาเหาะมาอุ้มแล้วพาพระองค์ไปยังเมืองมิถิลา ต่อมาพระมหาชนกได้ครองเมืองมิถิลา ทรงคิดค้นวิธีการขยายพันธุ์ต้นมะม่วง 9 วิธี และก่อตั้งปูทะเลย์มหาวิชชาลัย เพื่อให้เป็นสถาบันการศึกษา ทำให้ผู้คนในบ้านเมืองมีปัญญาไม่ลุ่มหลงในโมหภูมิ (คณิตา หอมทรัพย์, 2560 : 70) นอกจากนี้ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ เคยกล่าวถึงในเชิงยกย่อง “มหาชนก” ว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่ไพเราะงดงามอย่างยิ่ง ทั้งในด้านภาษา และในธรรมะที่เป็นแก่นของเรื่อง ดังพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้กล่าวไว้ในหนังสือให้เป็นเครื่องพิจารณาเพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของสาธุชนทั้งหลายว่า “ขอจงมีความเพียรที่บริสุทธ์ ปัญญาที่เฉียบแหลม กำลังกายที่สมบูรณ์ May all readers be blessed with pure perseverance, sharp wisdom and complete physical health

 

          3. เนื้อเรื่องตอนท้ายที่แตกต่างกันในพระไตรปิฎกและฉบับพระราชนิพนธ์

ในพระไตรปิฎก เมื่อพระมหาชนกเสด็จอุทยานทอดพระเนตรเห็นมะม่วงสองต้น ต้นหนึ่งกิ่งหักใบร่วง ส่วนอีกต้นมีใบหนาแน่นร่มเย็นเขียวชอุ่ม จึงตรัสถามอำมาตย์และทรงได้คำตอบว่าต้นมะม่วงที่มีกิ่งหักนั้นเป็นเพราะผลมีรสอร่อย ผู้คนจึงพากันสอยบ้าง เด็ดกิ่งบ้าง เพื่อเอาผลจนมีสภาพเป็นเช่นนั้น ส่วนอีกต้นไม่มีผลจึงไม่มีคนสนใจ ใบและกิ่งจึงอยู่สมบูรณ์ดี พระมหาชนกได้ฟังดังนั้นก็ทรงคิดว่าราชสมบัติเปรียบเหมือนต้นไม้มีผลอาจถูกทำลาย แม้ไม่ถูกทำลายก็ต้องคอยระแวดระวังรักษาทำให้เกิดความกังวล เมื่อพระมหาชนกเสด็จกลับมายังพระราชวังแล้วจึงตัดสินพระทัยออกผนวช (อลงกรณ์ จันทร์สุข, 2546 : 12-13) แต่ในพระมหาชนกฉบับพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตีความพระมหาชนกใหม่ให้เหมาะแก่สังคมปัจจุบัน ทรงเปลี่ยนให้พระมหาชนกครองราชสมบัติต่อไปเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ให้ได้เต็มที่ เช่น แสดงวิธีฟื้นฟูต้นมะม่วงแบบใหม่  9 วิธี และตั้งมหาวิทยาลัยแบบใหม่ เพื่อสอนคนให้รู้ทั้งวิชาการและมีปัญญา รู้ดี รู้ชั่ว เพื่อให้พ้นไปจากโมหภูมิ (ความโง่) เพราะพระมหาชนกจะบรรลุโมกขธรรมได้ง่ายกว่า หากได้ประกอบพระราชกรณียกิจในโลกให้ครบถ้วนก่อน

 

            4. คติธรรมที่แฝงในพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก

                จากการศึกษาพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ผู้เขียนพบคติธรรมที่แฝงอยู่ในพระมหาชนกฉบับพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดังนี้

4.1  การมีเป้าหมายที่ชัดเจนในชีวิต

“ลูกรัก ชื่อว่ามหาสมุทร สำเร็จประโยชน์น้อย มีอันตรายมาก อย่าไปเลย ทรัพย์ของพ่อมีมากพอประโยชน์ เอาราชสมบัติแล้ว” (พระมหาชนก, 2541 : 51)

     “หม่อมฉันจักไปแท้จริง” ทูลลาพระมารดาถวายบังคม กระทำประทักษิณ แล้วออกไปขึ้นเรือ (พระมหาชนก , 2541 : 51)

                จากเนื้อความข้างต้น พระมหาชนกทรงมีเป้าหมายที่ชัดเจน คือ เดินทางไปค้าขายยังสุวรรณภูมิเพื่อแสวงหาทรัพย์ และไปทวงคืนพระราชสมบัติของพระราชบิดาที่เมืองมิถิลา ถึงแม้จะถูกพระมารดาทัดทานไว้ด้วยความเป็นห่วงบุตร ว่าเกรงจะเกิดภัยอันตราย แต่พระมหาชนกทรงมีเป้าหมายที่ชัดเจน และทำตามที่ตั้งใจไว้ได้สำเร็จ คติธรรมที่นำไปปรับใช้ได้ คือ การมีเป้าหมายที่ชัดเจนในชีวิต บวกกับมีความพยายามที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งใจไว้ ไม่ย่อท้อและท้อถอย หากเป็นเช่นนั้นแล้วสักวันย่อมทำให้พบกับความสำเร็จในชีวิต

              4.2 การมีสติและตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

              พวกพาณิชประมาณเจ็ดร้อยคนขึ้นสู่เรือ เรือแล่นไปได้เจ็ดร้อยโยชน์ ใช้เวลาเจ็ดวัน เรือแล่นด้วยกำลังคลื่นที่ร้ายกาจ ไม่อาจทรงอยู่ได้ แผ่นกระดานก็แตกด้วยกำลังคลื่น น้ำเข้ามาแต่ที่นั้น ๆ เรือก็จมลงในกลางมหาสมุทร มหาชนกลัวมรณภัย ร้องไห้คร่ำครวญ กราบไหว้เทวดาทั้งหลาย แต่พระมหาสัตว์ไม่ทรงกันแสง ไม่ทรงคร่ำครวญ ไม่ไหว้เทวดาทั้งหลาย พระองค์ทรงทราบว่าเรือจะล่ม จึงคลุกน้ำตาลกรวดกับเนย เสวยจนเต็มท้อง แล้วชุบผ้าเนื้อเกลี้ยงสองผืนด้วยน้ำมันจนชุ่ม ทรงนุ่งให้มั่น ทรงยืนเกาะเสากระโดง ขึ้นยอดเสากระโดงเวลาเรือจม มหาชนเป็นภักษาแห่งปลาและเต่า น้ำโดยรอบมีสีเหมือนโลหิต พระมหาสัตว์เสด็จไปทรงยืนที่ยอดเสากระโดง ทรงกำหนดทิศทางว่า เมืองมิถิลาอยู่ทิศนี้ ก็กระโดดจากยอดเสากระโดง ล่วงพ้นฝูงปลาและเต่า ไปตกในที่สุด อุสภะหนึ่ง (70 เมตร)  เพราะพระองค์มีพละกำลังมาก (พระมหาชนก, 2541 : 58)

              จากเนื้อความข้างต้น พระมหาชนกไม่ทรงกันแสง ไม่ทรงคร่ำครวญ เรียกร้องความสงสาร ความเห็นอกเห็นใจ หรือขอความช่วยเหลือจากใคร แม้แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ทรงเตรียมตัวให้พร้อมแล้วกระโดดออกจากตัวเรือ จึงไม่จมไปพร้อมกับพวกพ่อค้าเหล่านั้น สะท้อนให้เห็นถึงการมีสติสัมปชัญญะเมื่อต้องเผชิญกับภัยอันตรายที่อยู่ตรงหน้า โดยทรงตั้งสติให้มั่นเพื่อฝ่าฟันผ่านวิกฤตให้ได้ อีกทั้งความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองที่จะต่อสู่ฝ่าฟันอุปสรรคที่กำลังเผชิญอยู่ด้วยตนเอง โดยไม่เรียกร้องความเห็นอกเห็นใจหรือรอขอ ความช่วยเหลือใด ๆ จากผู้อื่น คติธรรมที่นำไปปรับใช้ได้ คือ การมีสติในการดำเนินชีวิต เมื่อมีสติก็จะเกิดปัญญา เมื่อมีสติและปัญญา จะทำให้เรื่องใหญ่กลายเป็นเรื่องเล็ก อีกทั้งตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองว่าสามารถทำได้ และเมื่อจะทำสิ่งใดก็พยายามทำด้วยตัวเองอย่างสุดความสามารถและเพียรพยายาม สักวันย่อมพบกับความสำเร็จและเกิดความภาคภูมิใจในตนเองว่าเราสามารถทำได้ด้วยตัวของเราเองโดยไม่พึ่งพาผู้อื่น

               4.3 ความเพียร

             “ดูก่อนเทวดา เราไตร่ตรองเห็นปฏิปทาแห่งโลกและอานิสงส์แห่งความเพียร เพราะฉะนั้น ถึงจะมองไม่เห็นฝั่ง เราก็ต้องพยายามว่ายอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร” (พระมหาชนก, 2541 : 69)

           “บุคคลเมื่อกระทำความเพียรแม้จะตายก็ชื่อว่า ไม่เป็นหนี้ในระหว่างหมู่ญาติ เทวดา และบิดามารดา อนึ่ง บุคคลเมื่อทำกิจอย่างลูกผู้ชาย ย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง” (พระมหาชนก, 2541 : 79)

              จากเนื้อความข้างต้น พระมหาชนกทรงเพียรพยายามอย่างไม่ท้อถอยว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทรเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน กระทั่งนางเมขลาได้เหาะมาอุ้มพระมหาชนกจากมหาสมุทรแล้วพาไปยังกรุงมิถิลา โดยจากบทสนทนาระหว่างพระมหาชนกและนางเมขลา สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่พระมหาชนกต้องการบอกกับนางมณีเมขลาว่า ถ้าตราบใดคนเรายังมีความเพียร และรักษาความเพียรเอาไว้ ก็ไม่เสียหาย เพราะความเพียรเป็นความหวัง เมื่อคนเรามีความหวัง โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็เป็นไปได้ อีกทั้งคนเรานั้น แม้จะตายก็ขอให้ได้สู้ อย่าได้ละทิ้งความพยายาม ญาติพี่น้องก็จะไม่ตำหนิติเตียน เทวดาก็ตำหนิไม่ได้ พ่อแม่ก็ตำหนิไม่ได้ และที่สำคัญคนเราเมื่อทำกิจของลูกผู้ชายแล้วย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง คติธรรมที่นำไปปรับใช้ได้ คือ ชีวิตคนเรานั้นสามารถประสบและพบกับความสำเร็จได้ ขอให้มีความเพียรเป็นที่ตั้งในการดำเนินชีวิต  

               4.4 การมีสัจจะ

     “ท่านจงตั้งสถาบันการศึกษาให้ชื่อว่า “โพธิยาลัยมหาวิชชาลัย” ในกาลนั้นท่านจึงจะสำเร็จกิจที่แท้จริง (พระมหาชนก, 2541 : 96)    

     “เราแน่ใจว่าถึงกาลที่จะตั้งสถาบันแล้ว เป็นสัจจะว่าควรตั้งมานานแล้ว” (พระมหาชนก, 2541 : 140)

     จากเนื้อความข้างต้น เมื่อพระมหาชนกได้ครองราชสมบัติที่เมืองมิถิลา ทรงมุ่งมั่นในการทำกิจให้สำเร็จตามที่นางมณีเมขลาแจ้งไว้ คือ ต้องทำให้สาธุชนได้รับพรแห่งโพธิญาณจากโอษฐ์ คือ การก่อตั้งสถาบันการศึกษาเพื่อให้ผู้คนมีปัญญา โดยพระมหาชนกได้ก่อตั้งปูทะเลย์มหาวิชชาลัยเป็นสถาบันทางการศึกษา ซึ่งถือเป็นการกระทำที่เกิดจากความตั้งใจจริง เพื่อทำให้คนมีปัญญา และได้ทำตามที่นางมณีเมขลาได้แจ้งไว้ ไม่บิดพลิ้ว คติธรรมที่นำไปปรับใช้ได้ คือ การมีสัจจะ ซึ่งหมายถึง มีความซื่อตรง จริงใจ และมีความตั้งใจจริง เพราะหากจะกระทำสิ่งใดก็ตาม หากเรามีความซื่อตรง จริงใจ ทำด้วยความจริงจัง และตั้งใจจริง การงานใด ๆ ก็ย่อมประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน

สรุป

    พระมหาชนกเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถือเป็นวรรณกรรมของไทยที่อุดมด้วยภาษาวรรณศิลป์ อีกทั้งเนื้อหาเปี่ยมด้วยข้อคิดคติธรรมที่แฝงอยู่ในเนื้อเรื่อง ได้แก่ การมีเป้าหมายที่ชัดเจนในชีวิต การมีสติและตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ความเพียร ตลอดจนการมีสัจจะ ซึ่งผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและส่วนรวมได้อย่างแท้จริง วรรณกรรมเรื่องพระมหาชนกจึงแสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านอักษรศาสตร์และ การเป็นพระธรรมราชาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ไทย     ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย  

เอกสารอ้างอิง

คณิตา หอมทรัพย์. (2560). พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช : การศึกษาในฐานะวรรณกรรมเฉลิมพระเกียรติของไทย. วารสารวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, 7(9), 70.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ. (2541). พระมหาชนก. (พิมพ์ครั้งที่ 3) กรุงเทพฯบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).

สมบัติ กุสุมาวลี. (2553). พระมหาชนกกับแนวคิดการพัฒนามนุษย์และองค์การ อัจฉริยภาพอันสร้างสรรค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วารสารการบริหารฅน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 12(17)107-113.

อลงกรณ์ จันทร์สุข. (2546). พัฒนาการของจิตรกรรมพระมหาชนกชาดกตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงปัจจุบัน. มหาวิทยาลัยศิลปากร. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). กรุงเทพฯ:  มหาวิทยาลัยศิลปากร.

 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้