ลักษณะเฉพาะของภาษาไทย
ลักษณะเฉพาะของภาษาไทย
พรรณษา พลอยงาม1
บทนำ
ภาษาไทยเป็นวัฒนธรรมไทยอย่างหนึ่ง
มีลักษณะบางประการที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ เสียงวรรณยุกต์ คือ
ระดับเสียงสูงต่ำ มีลักษณะเหมือนเสียงดนตรี
อีกทั้งมีลักษณะเฉพาะเป็นของตัวเองแตกต่างจากภาษาอื่น ดังเช่น ในภาษาอังกฤษมีการเปลี่ยนแปลงรูปคำเพื่อแสดงประเภททางไวยากรณ์
ได้แก่ พจน์ หากมีจำนวนมากกว่าหนึ่ง
ก็จะเปลี่ยนแปลงรูปคำด้วยการเติม -s หรือ -es เพื่อแสดงพหูพจน์
หรือ เปลี่ยนแปลงรูปคำเพื่อบอกกาล present หรือ past ซึ่งต่างจากภาษาไทยที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปคำเพื่อแสดงประเภททางไวยากรณ์เหล่านั้น
หรือคำขยายในภาษาไทยจะเรียงอยู่หลังคำที่ถูกขยาย ซึ่งมีลักษณะที่ตรงกันข้ามกับในภาษาอังกฤษ
ดังนั้นการที่ผู้ใช้จะใช้ภาษาไทยให้ได้ผลตามจุดมุ่งหมาย
จะต้องรู้จักลักษณะของภาษาไทยอย่างถ่องแท้
เพื่อนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องและสัมฤทธิผล
1.ความหมายของภาษา
คำว่า “ภาษา” เป็นคำสันสกฤต
ภาษาบาลีเป็น “ภาสา” มาจากรากเดิมว่า
“ภาษ” ซึ่งแปลว่า พูด กล่าว หรือบอก เมื่อนำมาใช้เป็นคำนาม มีรูปเป็น “ภาษา”
โดยได้มีผู้กล่าวถึงความหมายหรือนิยามของภาษาในลักษณะต่างๆ ดังนี้
วิจินตน์ ภาณุพงศ์ (2520 : 6) ได้กล่าวว่า ภาษา คือเสียงพูดที่มีระเบียบและมีความหมายซึ่งมนุษย์ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับสื่อสารความคิด
ความรู้สึก ความต้องการ และใช้ในการประกอบกิจกรรมร่วมกัน
จันทร์เพ็ญ ศิริพันธุ์ (2551 : 2) ได้ให้ความหมายของภาษาว่า
ภาษาเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อความหมายเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ความรู้สึก และความต้องการซึ่งกันและกัน
กำชัย ทองหล่อ (2554 : 1) ได้ให้คำจำกัดความของภาษา
โดยกล่าวว่า ภาษา แปลตามรูปศัพท์หมายถึง คำพูดหรือถ้อยคำ แปลเอาความว่า เครื่องสื่อความหมายระหว่างมนุษย์
ให้กำหนดรู้ความประสงค์ของกันและกันได้ โดยมีระเบียบคำ หรือจังหวะเสียงเป็นเครื่องกำหนด
ราชบัณฑิตยสถาน (2556 : 868-869) ได้ให้ความหมายของคำว่า
ภาษา ดังนี้ ถ้อยคำที่ใช้พูดหรือเขียนเพื่อสื่อความของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น
ภาษาไทย ภาษาจีน หรือเพื่อสื่อความเฉพาะวงการ เช่น ภาษาราชการ ภาษากฎหมาย ภาษาธรรม
; เสียง ตัวหนังสือ
หรือกิริยาอาการที่สื่อความได้ เช่น ภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษาท่าทาง ภาษามือ ; (โบ)
คนหรือชาติที่พูดภาษานั้นๆ เช่น มอญ ลาว ทะวาย นุ่งห่มและแต่งตัวตามภาษา (พงศ.ร3) ; (คอม) กลุ่มของชุดอักขระ สัญนิยม
และกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเพื่อสั่งงานคอมพิวเตอร์ เช่น ภาษาซี ภาษาจาวา ; ปริยายหมายความว่า สาระ
เรื่องราว เนื้อความที่เข้าใจกัน เช่น ตกใจจนพูดไม่เป็นภาษา เขียนไม่เป็นภาษา
ทำงานไม่เป็นภาษา
___________________________________
1 อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย (ค.บ.) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ
บ้านสมเด็จเจ้าพระยา
จากคำนิยามหรือคำจำกัดความของภาษาข้างต้น
สรุปได้ว่า ภาษา หมายถึง เครื่องมือหรือระบบการใช้สัญลักษณ์ อาจเป็นเสียงหรือกิริยาอาการที่ใช้สื่อความหมายถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดอันจะก่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน
2. ลักษณะเฉพาะของภาษาไทย
ภาษาทุกภาษาต่างมีลักษณะเฉพาะ บ่งบอกความเป็นเอกลักษณ์ ดังที่ บรรจบ
พันธุเมธา (2549 :
1)
ได้กล่าวว่า ภาษาแต่ละภาษาย่อมมีลักษณะเฉพาะของตนเอง
แม้บางภาษาเช่นภาษาไทยกับภาษาจีนจะมีลักษณะคล้ายกันบางประการด้วยกัน
แต่ก็ยังมีอีกหลายประการที่ต่างกัน ดังนั้น
การศึกษาเรียนรู้ภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาประจำชาติไทย
อีกทั้งมีความโดดเด่นเทียบเท่ากับภาษาสากล จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องศึกษาเรียนรู้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องลักษณะเฉพาะของภาษาไทย ทั้งนี้เพื่อที่ผู้ใช้จะได้นำไปใช้ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ในการสื่อสาร
โดยผู้เขียนสรุปข้อสังเกตเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของภาษาไทยได้ ดังนี้
ภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด
(Isolating language) คือ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปคำเพื่อแสดงประเภททางไวยากรณ์ (Grammatical Categories)
ประเภททางไวยากรณ์หมายถึงลักษณะใดๆก็ตามที่เกี่ยวข้องกับคำแต่ละชนิด
โดยเฉพาะคำนามและคำกริยา เช่น บุรุษ เพศ พจน์ การชี้เฉพาะ การนับได้ หรือนับไม่ได้
กาล การณ์ลักษณะ มาลา วาจก เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น ในภาษาอังกฤษ
คำนามที่นับได้ หากมีจำนวนมากกว่าหนึ่ง ก็จะเปลี่ยนแปลงรูปคำด้วยการเติม -s หรือ -es เพื่อแสดงพหูพจน์
ส่วนในภาษาไทยคำนามไม่มีการเปลี่ยนรูปคำเพื่อบอกพจน์
แต่ใช้วิธีการขยายคำนามด้วยคำบอกปริมาณ หรือคำบอกจำนวน ดังนี้
ภาษาไทย
เอกพจน์ พหูพจน์
สุนัข
1 ตัว สุนัข
2 ตัว
กล่อง 1 ใบ กล่องหลายใบ
ภาษาอังกฤษ
เอกพจน์ พหูพจน์
dog dogs
box boxes
จากตัวอย่างข้างต้น
ภาษาไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปคำเพื่อแสดงประเภททางไวยากรณ์
จึงถือได้ว่าภาษาไทยเป็น “ภาษาคำโดด”
ภาษาไทยมีภาษาย่อย (Dialects) หลายภาษาด้วยกัน ภาษาย่อยคือภาษาเดียวกัน
ที่มีความหมายแตกต่างกันตามท้องถิ่น (Regional Dialects)
เช่น ภาษาถิ่นเหนือ ภาษาถิ่นใต้ ภาษาถิ่นอีสาน ภาษาถิ่นกลาง เป็นต้น
หรือภาษาเดียวกันที่มีความแตกต่างๆกันตามปัจจัยทางสังคม เช่น ภาษาย่อยตามเพศ
(ภาษาของผู้ชาย ภาษาของผู้หญิง ภาษาของเพศทางเลือก) ภาษาย่อยตามอายุ (ภาษาของเด็ก
ภาษาของวัยรุ่น) เป็นต้น
ภาษาไทยแท้มีตัวสะกดตามมาตรา
คำไทยแท้จะมีตัวสะกดตามมาตราและไม่มีการันต์ คือ
แม่
กก ใช้ “ก” เป็นตัวสะกด เช่น นก แม่ กง ใช้ “ง”
เป็นตัวสะกด เช่น นั่ง
แม่
กด ใช้ “ด” เป็นตัวสะกด เช่น กัด แม่ กน ใช้ “น”
เป็นตัวสะกด เช่น นอน
แม่
กบ ใช้ “บ” เป็นตัวสะกด เช่น สับ แม่ กม
ใช้ “ม” เป็นตัวสะกด เช่น ลม
แม่
เกย ใช้ “ย” เป็นตัวสะกด เช่น ยาย แม่ เกอว ใช้ “ว” เป็นตัวสะกด เช่น ยาว
ภาษาไทยให้ความสำคัญกับการเรียงลำดับหน่วยต่างๆ ถ้าเรียงคำเปลี่ยนที่หรือสับที่กัน
ความหมายจะเปลี่ยนไปหรือไม่สามารถใช้สื่อสารได้ เช่น คำว่า “เดินทาง” หมายถึง ไปสู่ที่ใดที่หนึ่งที่ไกลออกไป ในทางตรงกันข้าม คำว่า “ทางเดิน” นั้น หมายถึง ทางเท้า บาทวิถี เป็นต้น
นอกจากนี้
ในการเรียงลำดับส่วนต่างๆในประโยคภาษาไทยมีการเรียงลำดับแบบประธาน กริยา กรรม หรือ
SVO เหมือนในโครงสร้างประโยคภาษาอังกฤษ
ดังตัวอย่างประโยค
“แม่รักน้อง” มีการเรียงลำดับประธาน คือ “แม่”
กริยา คือ “รัก” และกรรม คือ “น้อง”
ถ้าเรียงใหม่เป็น “แม่น้องรัก” โดยเรียงลำดับ ประธาน กรรม กริยา ก็จะได้ประโยคที่ผิดไวยากรณ์ของไทย
หรือหากเรียงลำดับใหม่เป็น “น้องรักแม่” ความหมายของประโยคก็จะเปลี่ยนแปลงไป
ภาษาไทยคำเดียวกันแต่มีความหมายหลายอย่าง
ภาษาไทยนั้นเป็นภาษาคำโดด ถ้าคำอยู่ต่างที่หรือเปลี่ยนที่ไป
ก็จะมีความหมายเปลี่ยนไป ความหมายจะขึ้นกับบริบทที่แวดล้อมอยู่ ดังเช่น เช้าวันนี้ฉันมีอารมณ์ขัน1 เมื่อได้ยินไก่ขัน2
ในขณะที่กำลังใช้ขัน3ตักน้ำ
คำว่า “ขัน” ทั้ง 3 คำ มีความหมายแตกต่างกัน
ขันคำที่ 1 เป็นคำวิเศษณ์ขยายคำว่าอารมณ์ คือ
น่าหัวเราะ
ขันคำที่ 2 เป็นคำกริยา คือ อาการร้องของไก่
ขันคำที่ 3 เป็นคำนาม คือ ภาชนะตักหรือใส่น้ำ
ภาษาไทยมีเสียงวรรณยุกต์
เสียงวรรณยุกต์ คือ ระดับเสียงสูงต่ำ มีลักษณะเหมือนเสียงดนตรี เสียงวรรณยุกต์ในภาษาไทยมีทั้งหมด 5 เสียง ได้แก่
เสียงสามัญ เสียงเอก เสียงโท เสียงตรี เสียงจัตวา โดยเสียงวรรณยุกต์ทำให้คำมีความหมายแตกต่างกันไป
เช่น เสือ เสื่อ เสื้อ
เสียงจัตวา - เสือ หมายถึง น.ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
รูปร่างลักษณะคล้ายแมวแต่ตัวโตกว่ามาก เป็นสัตว์กินเนื้อ นิสัยค่อนข้างดุร้าย
หากินเวลากลางคืน
เสียงเอก -
เสื่อ หมายถึง
น.เครื่องสานชนิดหนึ่งสำหรับปูนั่งและนอน
เสียงโท -
เสื้อ หมายถึง น.
เครื่องสวมกายท่อนบน
คำขยายในภาษาไทยจะเรียงอยู่หลังคำที่ถูกขยายเสมอ
ซึ่งต่างจากภาษาอังกฤษ ดังตัวอย่าง
ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ
กระต่ายสีขาว white rabbit
ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีลักษณนาม
ลักษณนามเป็นคำนามชนิดหนึ่ง
ที่ตามหลังคำนามชนิดอื่นเพื่อบอกลักษณะของคำนามนั้น โดยลักษณนามใช้ตามหลังจำนวนนับ
เพื่อบอกให้รู้ลักษณะต่างๆกันของนามนั้น
เช่น หนังสือ 5 เล่ม ดินสอ
1 แท่ง แหวน 1 วง
ภาษาไทยมีระดับภาษา ระดับภาษา หมายถึง การเลือกใช้ภาษาให้เหมาะกับปัจจัยของการสื่อสาร
อันได้แก่
ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสาร
ทั้งในประเด็นของสถานภาพและความใกล้ชิดสนิทสนม และกาลเทศะ ตัวอย่างเช่น
คำบุรุษสรรพนามในภาษาไทย ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 บุรุษ ดังนี้
บุรุษที่
1 แทนผู้พูด
เช่น เรา ข้า กระผม ผม อาตมา ข้าพเจ้า หนู ดิฉัน ข้าพระพุทธเจ้า
บุรุษที่
2 แทนผู้ฟัง
เช่น ตัวเอง เธอ คุณ ท่าน โยม ใต้เท้า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
บุรุษที่
3 แทนผู้ที่ถูกกล่าวถึง
เช่น มัน แก ท่าน
พึงสังเกตว่า
คำบุรุษสรรพนามในแต่ละบุรุษในภาษาไทย มีหลายคำด้วยกัน
ทั้งนี้เพื่อเลือกใช้ให้แก่ทั้งคู่สนทนา เวลา และสถานที่ที่สื่อสารกัน
ภาษาไทยมีการสร้างคำ
การสร้างคำในภาษาไทยเป็นวิธีการเพิ่มจำนวนคำในภาษาไทย ด้วยภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด (Isolating Language) ทำให้คำไทยแท้มีจำนวนจำกัด
อีกทั้งคำพยางค์เดียวส่วนมากจะเป็นคำมูลหรือเป็นคำพื้นฐานที่ใช้มากในชีวิตประจำวัน
เมื่อสังคมเจริญขึ้น จึงมีวิธีการสร้างคำขึ้นใช้ในภาษา เพื่อให้ภาษามีความหลากหลาย
อีกทั้งในชีวิตประจำวันนั้นมีเทคโนโลยี สิ่งประดิษฐ์ แนวคิดใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
การสร้างคำขึ้นมาใหม่นั้นก็เพื่อใช้เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่เหล่านั้น
ประกอบกับภาษาไทยเป็นภาษาที่ไม่มี
การเปลี่ยนแปลงรูปคำเพื่อให้เกิดคำใหม่ จึงต้องมีระบบการสร้างคำขึ้นใช้
ได้แก่ การประสมคำ การซ้ำคำ
หรือการซ้อนคำ
สรุป
ภาษาไทยมีลักษณะเฉพาะเป็นของตัวเองแตกต่างจากภาษาอื่น
มีลักษณะบางประการที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ ภาษาไทยเป็นคำโดด
ภาษาไทยมีภาษาย่อย (Dialects)
หลายภาษาด้วยกัน ภาษาไทยแท้มีตัวสะกดตามมาตรา ภาษาไทยให้ความสำคัญกับการเรียงลำดับหน่วยต่างๆ ภาษาไทยคำเดียวกันแต่มีความหมายหลายอย่าง ภาษาไทยมีเสียงวรรณยุกต์
คำขยายในภาษาไทยจะเรียงอยู่หลังคำที่ถูกขยายเสมอ
ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีลักษณนาม ภาษาไทยมีระดับภาษา และภาษาไทยมีการสร้างคำ
ดังนั้นจึงควรศึกษาเรียนรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจลักษณะเฉพาะของภาษาไทยอย่างถ่องแท้
อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะทางด้านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน
ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ในการนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมตรงตามวัตถุประสงค์
เอกสารอ้างอิง
กำชัย ทองหล่อ. (2554). หลักภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 53. กรุงเทพฯ: รวมสาส์น (1977).
จันทร์เพ็ญ ศิริพันธุ์. (2551). การใช้ภาษาไทย. ชุมพร: สถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตชุมพร.
บรรจบ พันธุเมธา. (2549). ลักษณะภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 15. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
ราชบัณฑิตยสถาน. 2556. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ. 2554. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: บริษัท นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์
จำกัด.
วิจินตน์ ภาณุพงศ์. (2520). โครงสร้างของภาษาไทย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น